แคนตาลูป
“แคนตาลูป”
…เป็นพืชในตระกูลแตงที่นิยมปลูกเพื่อการค้าชนิดหนึ่งที่มีราคาต่อผลสูง เนื่องจากเป็นแตงที่มีรสหอมหวาน มีคุณค่าทางโภชนาการ ประกอบด้วยวิตามินเอ และวิตามินซีสูงจึงเป็นแตงที่ที่นิยมบริโภคกันมากไม่แพ้แตงโมเลยทีเดียว แคนตาลูป (Cantaloupe Melon,Muskmelon) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucumis melo L. var. cantalpensis ในวงศ์ Cucurbitaceous ตระกูลเดียวกันกับแตงไทย บางท้องที่เรียก แตงเทศ หรือ แตงหอม มีลักษณะผลค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักมาก เปลือกหนา ส่วนผิวเปลือกมีทั้งแบบเรียบ และแบบมีร่างแห หรือ มีร่องยาวจากขั้วถึงท้ายผล เนื้อมีสีส้มหรือสีเหลือง มีรสหวาน และมีกลิ่นหอม ในต่างประเทศมีแหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา อเมริกากลาง และเม็กซิโก ส่วนประเทศไทยพบการปลูกมากในจังหวัดนครสวรรค์ ปราจีนบุรี และสระแก้ว พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ฮันนี่ พันธุ์ซันเลดี้ และพันธุ์ฮันนี่ดิว
ประวัติแคนตาลูป
ถิ่นกำเนิดของแคนตาลูป มีการกล่าวถึงหลายพื้นที่ เช่น ทวีปแอฟริกา ประเทศอินเดีย แถบกึ่งอบอุ่น และเขตร้อนทางทิศตะวันตกของทวีปแอฟริกา เริ่มพบหลักฐานบันทึกการปลูกแคนตาลูปในประเทศอียิปต์ เมื่อ 2400 ปี ก่อนคริสตกาล และมีการบันทึกการนำแคนตาลูปเข้ามาปลูกในกรุงโรม เมื่อศตวรรษที่ 1 ค.ศ. 1494 และปี ค.ศ. 1582 พบการปลูกแคนตาลูปในมลรัฐมิสซิสซิปปี้ อลาบามา และเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1609 ที่มาของชื่อ แคนตาลูป (cantaloupe) ถูกตั้งขึ้นจากเกษตรกรที่ปลูกแคนตาลูปในเมืองแคนตาลูโป้ (Cantalupo) ประเทศอิตาลี ทำให้กลายเป็นชื่อเรียกอย่างเป็นทางการเป็นต้นมา การปลูกแคนตาลูปในประเทศไทยเริ่มมีการนำเข้าพันธุ์จากต่างประเทศมาปลูกครั้งแรกที่สถานีกสิกรรมแม่โจ้ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้) เมื่อปี 2478 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ต่อมาเมื่อปี 2493 ได้นำพันธุ์มาทดลองปลูกที่เกษตรกลางบางเขน แต่การปลูกก็ไม่สำเร็จเช่นกัน และเริ่มทดลองปลูกอีกครั้งในปี 2497 ที่เกษตรกลางบางเขนจนประสบผลสำเร็จ ต่อมีการปลูกที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งได้ผลดี และเริ่มขยายการปลูกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
แคนตาลูป มีโครโมโซม 2n = 2x = 24 ผสมเกสรโดยแมลง และลม ในพันธุ์ที่มีดอกสมบูรณ์เพศสามารถผสมพันธุ์เองได้
1. รากเป็นระบบรากแก้ว มีรากแขนง และรากฝอยแตกออกห่างๆ ระบบความลึกของรากประมาณ 30 เซนติเมตร
2. ลำต้นแคนตาลูปเป็นพืชเถาเลื้อยตาดินหรือตามกิ่งไม้ ลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน มีลักษณะกลม ความยาวประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นมีหนามคล้ายขน ช่วงข้อมีความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร บริเวณข้อแตกกิ่งย่อยออก และบริเวณข้อย่อยจะแตกใบ และดอก ส่วนซอกใบจะแตกหนวดสำหรับยึดเกาะขณะเจริญเติบโต
3. ใบแคนตาลูป มีลักษณะคล้ายใบแตงหรือฟักทอง แตกออกบริเวณข้อกิ่ง ข้อละ 1 ใบ เรียงสลับกัน ก้านใบกลวง ยาว 5-10 เซนติเมตร มีขน บริเวณฐานใบเว้า ขอบใบหยักเป็นคลื่น ผิวใบขรุขระ ใบอ่อนมีขนที่ริมขอบใบ และใต้ใบ เมื่อใบมีอายุมากขนที่ใต้ใบจะน้อยลง
4. ดอกแคนตาลูปมีทั้งดอกแบบเพศผู้ ดอกเพศเมีย และดอกสมบูรณ์เพศบนต้นเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่มักพบแบบมีดอกเพศผู้ และดอกสมบูรณ์เพศ ซึ่งดอกเพศผู้แทงออกที่ซอกใบบริเวณแขนงย่อยเกือบทุกแขนง ดอกจะมีสีเหลืองคล้ายดอกแตงกวา โดยดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ อับละอองเกสร 3 อับ และก้านชูเกสรสั้น ส่วนดอกเพศเมีย และดอกสมบูรณ์เพศจะแทงออกที่แขนงย่อยข้อแรก ดอกสมบูรณ์เพศมีกลีบเลี้ยงสีเขียว ส่วนกลีบดอกมีสีเหลือง 5 กลีบ อับละอองเกสรตัวผู้ 3 อับ ล้อมรอบเกสรตัวเมียที่มี 3-5 แฉก ส่วนรังไข่มีลักษณะกลม ยาว 2-4 เซนติเมตร มี 3-5 ห้อง และฐานดอกสมบูรณ์เพศมีรังไข่ที่เจริญเป็นผล
5. ผลแคนตาลูปพัฒนามาจากรังไข่จากดอกที่เกิดอยู่บนแขนงย่อย ผลมีลักษณะแตกต่างกันตามสายพันธุ์ บางพันธุ์มีร่างแหปกคลุม บางพันธุ์ผิวเรียบไม่มีร่างแห บางพันธุ์มีร่องเป็นทางยาวจากขั้วผลถึงท้ายผล ลักษณะผลทุกสายพันธุ์ค่อนข้างกลมรี ผลมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-15 เซนติเมตร หนักประมาณ 0.5-2 กิโลกรัม มีสีผิวเปลือก และสีเนื้อแตกต่างกันตามสายพันธุ์ เนื้ออาจมีสีเหลือง สีเหลืองอมเขียว และสีส้ม ส่วนเมล็ดมีสีน้ำตาลเหลือง
สายพันธุ์แคนตาลูป
แบ่งตามผิวเปลือก
1. Reticulata ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucumis melo L. var. reticulata เรียกทั่วไปว่า เน็ตท์เมลอน (netted melon) มัสต์เมลอน (musk melon) หรือเปอร์เซียนเมลอน (persian melon) เปลือกมีผิวขรุขระ แข็ง เป็นร่างแห เนื้อมีสีเขียวปนเหลือง หรือ สีส้ม
2. Cantaloupensis ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucumis melo L. var. cantaloupensis เรียกทั่วไปว่า ร็อคเมลอน (rock melon) เปลือกมีผิวขรุขระ แข็ง ไม่เป็นร่างแห แต่มีร่องลึกเป็นทางยาวจากขั้วผลจรดท้ายผล
3. Inodorous ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucumis melo L. var. inodorous L เปลือกมีผิวเรียบ ไม่เป็นร่างแห พันธุ์ที่นิยมได้แก่ พันธุ์ฮันนี่ดิว (honeydew)
4. Flexuosus ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucumis melo L. var. Flexuosus เรียกทั่วไปว่า สเน็คเมลอน (snake melon) ผลมีขนาดเล็ก เปลือกเรียบสีขาว ขนาดผลเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 นิ้ว ผลอาจตรงหรือโค้ง นิยมนำมาทำเป็นผลไม้ดอง
5. Conomon ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucumis melo L. var. Conomon เรียกทั่วไปว่า ปิกลิงเมลอน (pickling melon) ผลมีขนาดเล็ก เรียวยาว เปลือกผิวเรียบ มีหลายสี เนื้อมีสีขาวหรือสีน้ำตาลปนขาว
6. Chito ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucumis melo L. var. Chito เรียกทั่วไปว่า แมงโกเมลอน (mengo melon) ผลมีขนาดเล็ก เปลือกผิวเรียบ มีหลายสี เนื้อมีรสเปรี้ยว นิยมนำทำเป็นผลไม้ดอง
7. Dudaim ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucumis melo L. var. Dudaim เรียกทั่วไปว่า โปมกราืเน็ต เมลอน (pomegranate melon) ผลมีขนาดเล็กเท่าผลส้ม รูปร่างกลมหรือรูปไข่ เปลือกผิวเรียบ มีกลิ่นคล้ายโคลน
แบ่งตามสีเนื้อ
1. เนื้อมีสีเขียวหรือเขียวขาว เป็นแคนตาลูปที่มีทั้งเปลือกผิวเรียบ และแบบขรุขระเป็นร่างแห ผลสุกมีสีเปลือกเป็นสีเขียวครีม สีเหลือง หรือสีเหลืองทอง ส่วนเนื้อผลมีสีเขียวหรือเขียวขาว กรอบนุ่ม มีรสหวาน และกลิ่นหอม ได้แก่ พันธุ์เจตดิว (Jade Dew) วีนัสไฮบริด (Venus hybride) ฮันนี่ดิว (Honey dew) และฮันนี่เวิลด์ (Honey world)
2. เนื้อมีสีส้ม เป็นแคนตาลูปที่มีทั้งเปลือกผิวเรียบ และแบบขรุขระเป็นร่างแห ผลสุกจะมีสีเปลือกเป็นสีครีม หรือสีเหลือง ส่วนเนื้อมีสีส้ม กรอบนุ่ม มีรสหวาน และกลิ่นหอม ได้แก่ พันธุ์ซันเลดี้ (Sun lady) ท๊อปมาร์ค (Top mark) และนิวเซนจูรี่ (New cenjury)
การปลูกแคนตาลูป
การปลูกแคนตาลูปสามารถปลูกได้ทั้งการหยอดเมล็ดโดยตรง และการปลูกจากพันธุ์กล้า และสามารถแบ่งรูปแบบการปลูกได้ 3 รูปแบบ คือ
1. แบบปล่อยเลื้อยบนแปลงดิน
2. แบบทำค้างบนแปลงดิน
3. แบบปลูกในโรงเรือน (ทำค้าง)
ขั้นตอนการปลูก
การเพาะกล้า วัสดุเพาะจะเป็นดินผสมกับวัสดุอินทรีย์การเกษตร เช่น แกลบ ขี้เลื่อย ขี้เถ้า และมูลสัตว์ เป็นต้น อัตราส่วนระหว่างดินกับวัสดุที่ 2:1 หรือ 3:1 ด้วยการอัดวัสดุปลูกใส่ถุงเพาะขนาด 4×6 หรือ 8×12 ซม. หรือใช้ถ้วยไอศรีมขนาด 6×8 เมตร พร้อมเจาะรูบริเวณก้น 3-4 รู วางเรียงเป็นแถว กว้างประมาณ 1 เมตร หรือพอเหมาะสำหรับอื้มมือถึงจากด้านข้าง และรดน้ำให้ชุ่มก่อน 1-2 วัน (หากปลูกในฤดูฝนให้จัดทำร่องระบายน้ำรอบแปลง) ก่อนการเพาะจะใช้วิธีการบ่มเมล็ดก่อน ด้วยการนำเมล็ดใส่ห่อผ้าลงแช่น้ำยาฆ่าเชื้อราประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้น นำห่อผ้าขึ้นมา และใช้ผ้าหนา 1-2 ผืน ชุบน้ำพอหมาดๆ นำมาห่อทับถุงเมล็ดพันธุ์อีกชั้น แล้วนำห่อเมล็ดพันะธุ์ใส่กระติกน้ำแข็งพลาสติก นำไปตากแดดประมาณ 1 วัน ก็จะได้เมล็ดที่รากงอกแล้วประมาณ 0.5 ซม. ทั้งนี้ ควรระวังปริมาณเมล็ดในแต่ละห่อไม่ควรให้มากเกินไป การหยอดเมล็ดจะไม้ขนาดเล็กแทงลงกลางถุงเพาะ และตามด้วยการหยอดเมล็ด 1 เมล็ด/ถุง ด้วยการใช้ไม้ครีบเมล็ดหรือหากเชี่ยวชาญอาจใช้มือก็ได้ แต่ระวังหย่าให้รากหัก โดยค่อยๆหยอดเมล็ดให้รากลงหลุม พร้อมใช้ไม้เกลี่ยกลบผิวดิน หลังจากนั้น รดน้ำให้ชุ่มด้วยอุปกรณ์รดน้ำที่เป็นฝอยขนาดเล็ก และให้รดวันละ 2 ครั้ง พอให้ชุ่ม ห้ามรดมากเพราะเมล็ดอาจเน่าได้ จนกว่าเมล็ดจะงอก ก่อนเมล็ดงอกให้ทำโครงไม้ ปักเป็นรูปโค้งคลุมถุงเพาะ เมื่อเมล็ดเริ่มงอกหรือก่อนเมล็ดงอกให้ใช้ผ้าพลาสติกคลุมทั่วโครง ให้เปิดผ้าคลุมเพื่อรดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง และเปิดผ้าคลุมในเวลากลางวันหลังจากที่มีใบเลี้ยงแตกออกแล้วเพื่อให้ได้รับแสง และปิดคลุมในเวลากลางคืน ในระยะเพาะกล้ามักมีศัตรูของต้นกล้า ได้แก่ จิ้งหรีด จิ้งกือ จีซอน เข้ากัดกินต้นอ่อน ดังนั้น ระยะนี้ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยอาจใช้ผงป้องกัน และกำจัด โรยด้านข้างรอบแปลงเพาะ กล้าที่พร้อมย้ายลงแปลงปลูกจะมีอายุประมาณ 15 วัน หรือมีใบจริงแล้วประมาณ 3-5 ใบ
การเก็บเกี่ยว
แคนตาลูปมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 80-120 วัน หลังการปลูก สำหรับระยะการเก็บผลที่เหมาะสมให้สังเกตจากลักษณะต่อไปนี้
1. บริเวณรอยต่อของขั้วกับผลจะพบรอยแตกสีน้ำตาลอ่อน
2. สีของผลเปลี่ยนจากระยะผลอ่อนที่เป็นสีเขียวเปลี่ยนเป็นสีครีมเข้ม สีเหลือง สีส้ม และสีนวล ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์
3. ร่างแหมีรอยนูนแข็ง และใหญ่อย่างเห็นได้ชัดมากกว่าระยะอ่อน
4. เมื่อดมที่ผลจะได้กลิ่นหอมอ่อนๆของแคนตาลูป
5. การทดสอบทางเคมี ควรมีความถ่วงจำเพาะของน้ำแคนตาลูปไม่ต่ำกว่า 1.04 ปริมาณน้ำตาลไม่ต่ำกว่า 10% (w/w)
การเก็บแคนตาลูป ควรเก็บขณะผลสุกเพียง 80% สำหรับเผื่อระยะเวลาในการขนส่ง 2-3 วัน ซึ่งจะทำให้แตงสุกพอดี…
cp ม๋อจิ้ว@สุราษฎร์ธานี
cr ม๋อจิ้ว@สวนแคนตาลูป เมือง สุราษฎร์ธานี
ม๋อจิ้ว@สวนแคนตาลูป เมือง สุราษฎร์ธานี
เที่ยวถูกใจไปกับเรา พร-ฤทธิ์ ทัวร์ เพราะรอยยิ้มของคุณ คือความภูมิใจของเรา
พร-ฤทธิ์ ทัวร์
-หน้าหลัก
-การเดินทาง
-โรงแรมที่พัก
-ร้านอาหาร
-ช้อปปิ้ง
-สถานที่ท่องเที่ยว
-ประเพณีและวัฒนธรรม
เกี่ยวกับพร-ฤทธิ์ ทัวร์
-ข้อมูลพร-ฤทธิ์ ทัวร์
-เข้าสู่ระบบ/ลงทะเบียน
-แนะนำแหล่งท่องเทียว
-บทความท่องเที่ยว
-ร่วมงานกับเรา
-นโยบายและเงื่อนไข