บัวผุด (Rafflesia kerrii Meijer)

บัวผุด (Rafflesia kerrii Meijer)
อยู่ในวงศ์ Rafflesiaceae จัดเป็นพืชกาฝาก (parasitic plant) ที่อาศัยกับพืชสกุลเถาวัลย์น้ำ Tetrastigma sp. พืชในสกุล Rafflesia จัดว่าเป็นดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อบานมีความสวยงามมากชนิดหนึ่ง พบในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 16 ชนิด แต่พบในประเทศไทยเพียงชนิดเดียว คือ Rafflsia kerrii Meijer เดิมรายงานว่าพบได้ตั้งแต่จังหวัดระนอง ไปจนถึงเขตตอนเหนือของมาเลเซียเท่านั้น การเรียกชื่อดอกบัวผุดมักแตกต่างกัน ชาวสุมาตราเรียกดอกไม้ในสกุลนี้ว่า บังกา-ปัทมา (Banga-Patma) บังกา (Banga) แปลว่า ดอกไม้ ปัทมา (Patma) แปลว่า ดอกบัว คนไทยทางภาคใต้มักเรียกชื่อแตกต่างกันหลายชื่อ เช่น บัวตูม บัวตุม ต่อมาเรียกว่า บัวผุด เพราะเมื่อดอกบานเหมือนกับมีดอกบัวผุดออกอยู่กลางผืนป่า

บัวผุด เป็นพืชกาฝากชนิดหนึ่ง ไม่มีระบบราก ลำต้น ใบ และคลอโรฟิลล์ที่ใช้ในการสังเคราะห์แสง แต่สามารถเจริญได้ โดยการใช้เซลล์ยาวๆ เพียงไม่กี่เซลล์เชื่อมต่อกับท่อลำเลียงของรากเถาวัลย์น้ำ (Tetrastigma sp.) ดูดเอาน้ำเลี้ยง รวมทั้งสารอาหารต่างๆที่เถาวัลย์นี้สังเคราะห์ขึ้นด้วย โดยปกติแล้วเราจะไม่พบบัวผุดขึ้นอยู่ทั่วไปจนกว่าช่วงที่จะผสมพันธุ์เท่านั้น บัวผุดจะแตกตุ่มเล็กๆ บนเปลือกเถาวัลย์ เมื่อตูมดอกบัวผุดมีลักษณะคล้ายกับหัวกะหล่ำปลี มีกลีบสีน้ำตาลเข้มห่อหุ้มอยู่ด้านนอก แลแตกออกเมื่อขนาดใหญ่ขึ้น หลังจากผ่านไป 9 เดือนดอกบัวผุดจะบานออก สามารถวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ประมาณ 60-90 เซนติเมตร นำหนักสดมีน้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม และเคยมีรายงานว่าพบดอกไม้สกุลเดียวกันนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า100 เซนติเมตร ในต่างประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย

ดอกบัวผุดมี 5 กลีบขนาดใหญ่สีน้ำตาลปนแดงด้านบนผิวกลีบดอกมีตุ่มเล็กๆ สีขาวขึ้นอยู่หนาแน่น ติดกับกลีบดอกเป็นส่วนที่เรียกว่า ผนังบังดอก (diaphram) ส่วนในสุดของดอกมีลักษณะคล้ายจานแบนด้านผิวจานมีปุ่มคล้ายหนามแหลม ซึ่งยังไม่รู้หน้าที่ที่แน่นอน แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าปุ่มหนามนี้ช่วยการกระจายกลิ่นที่เหมือนเนื้อเน่าที่อยู่ภายในดอกบัวผุดให้แมลงวันรวมถึงแมลงอื่นๆ หลงกลกลิ่นเข้ามาข้างในดอกและเป็นตัวกระจายละอองเกสรตัวผู้ เป็นพืชที่มีการสืบพันธุ์แบบแยกเพศ ดอกเพศเมียและดอกเพศผู้อยู่คนละต้นกัน ซึ่งการจำแนกว่าดอกใดเป็นเพศไหนนั้นยากจะจำแนกด้วยตาเปล่า ต้องผ่าดูโครงสร้างในดอกเท่านั้น อวัยวะสืบพันธุ์ของบัวผุดจะอยู่บริเวณขอบด้านล่างของจาน (disk) เมื่อแมลงบินเข้าไปในดอกแล้วมุดลงใต้แผ่นจาน ละอองเกสรของดอกไม้ก็จะติดมากับตัวแมลงแล้วแพร่ไปยังดอกตัวเมีย แต่โอกาสที่ดอกบัวผุดจะผสมพันธุ์นั้นเป็นช่วงสั้นๆ คือ ช่วงที่ดอกบัวผุดบานประมาณ 4-5 วัน หลังจากนั้นกลีบดอกบัวผุดก็จะเริ่มม้วนตัวและมีสีคล้ำอย่างรวดเร็ว จนดำและย่อยสลายไปเหลือเพียงรอยแตกของเปลือกไม้บนเถาวัลย์นั้น

บัวผุดมักพบในเขตป่าดิบชื้น หรือบริเวณที่มีความชื้นสูง ที่ระดับความสูง 500-700 เมตร ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดระนอง ไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี นับได้ว่าเป็นสถานที่ดูบัวผุดที่สำคัญแห่งหนึ่งในเมืองไทย และยังมีรายงานว่าพบบัวผุดในบางพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยางพบบริเวณป่าดิบชื้นเหนือน้ำตกบัวสวรรค์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าบัวผุดมีการกระจายพันธุ์ไปไกล นอกจากนี้ยังพบได้ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซียอีกด้วย ผู้ค้นพบบัวผุด
นักพฤกษศาสตร์ชื่อ Dr. Joseph Arnold กำลังสำรวจป่าสุมาตราและพบดอกไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกบานอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแม่น้ำ Manna เขาจึงลงมือขุดเพื่อนำดอกและต้นมาศึกษาอย่างละเอียด Arnold เป็นหนึ่งในคณะนักสำรวจภายใต้การนำของ Sir Thomas Stamford Raffles ผู้เป็นรัฐบุรุษในการจัดตั้งรัฐสิงคโปร์ เขาจึงตั้งชื่อดอกไม้นั้นว่า Rafflesia arnoldii ในประเทศไทย ดอกบัวผุด (Refflesia Kerrii Meijer) ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2472 โดย นายแพทย์ เอ.เอฟ.จี.เคอร์ (Dr.A.F.G.Kerr) หมอสอนศาสนาและนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ เชื้อสายไอริช ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 บัวผุดพันธุ์ไทยได้รับการประกาศเป็นพันธ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Rafflesia Kerrii” เมื่อด.ร. เอ็ม เมเยอร์ (Dr. M. Mejer) แห่งมหาวิทยาลัยเคนตักกี สหรัฐอเมริกา พบว่าต่างจากบัวผุดที่พบในป่าดงดิบชื้นของอินโดนีเซีย และตั้งชื่อเป็นเกียรติกับผู้ค้นพบคือ นายแพทย์ เอ เอฟ จี เคอร์ (Dr. A.F.G.Kerr) ผู้เก็บตัวอย่างพืชชนิดนี้เพื่อการศึกษาทางพฤกษ์ศาสตร์เป็นผู้แรก

บัวผุดจัดเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่หายาก และ ตามบัญชีของ IUCN Red data book จัดว่าบัวผุดเป็นพืชที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามใกล้ต่อการสูญพันธุ์หรือมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้บัวผุดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ คือ

• จากการทำลายป่าไม้ที่เป็นที่อยู่อาศัยของบัวผุด ทำให้สภาพนิเวศเปลี่ยนแปลง โดยในปี พ.ศ. 2529 มีการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ทำให้พื้นที่ป่าจมน้ำ และชาวบ้านที่อพยพออกมาได้ตัดไม้ถางป่าเพื่อทำไร่ทำสวนเลี้ยงชีพ นับเป็นความเสียหายมหาศาล
• การลักลอบเก็บดอกบัวผุดขายและเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพร โดยเชื่อว่าบัวผุดเป็นยาบำรุงสตรีหลังคลอด ทำให้มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง และยังเป็นยาบำรุงบุรุษเพศ แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่ามีสรรพคุณจริงหรือไม่จากนักเภสัชศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านบางคนตัดเถาวัลย์ที่เป็นพืชอาศัยของบัวผุดไปด้วย
• ถูกสัตว์ป่ากัดกินดอกตูม ทำให้บัวผุดไม่มีโอกาสบานเพื่อผสมพันธุ์ต่อไป
• การที่นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปศึกษาธรรมชาติและเข้าไปชมบัวผุดจำนวนมาก ส่งผลให้ดินบริเวณดังกล่าวแน่นขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของเถาวัลย์วงจรชีวิตของบัวผุด

ดังนั้นบัวผุด เป็นพืชป่าฝนเขตร้อนที่มีระบบวงจรชีวิตที่เปราะบาง เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง เนื่องจากต้องอาศัยเงื่อนไขเฉพาะหลายประการในการแพร่พันธุ์ นอกจากนั้นโอกาสที่จะติดเป็นผลหลังการผสมเกสร มีไม่เกินร้อยละ 20

เงื่อนไขที่ 1 ดอกตัวผู้กับดอกตัวเมีย จะต้องบานพร้อมกัน และบานอยู่ไม่ห่างกันนัก มันจะปล่อยกลิ่นคล้ายซากเน่าออกมาล่อแมลงวันหัวเขียว ซึ่งเป็นแมลงชนิดเดียวที่ทำหน้าที่ผสมพันธุ์ให้บัวผุด จากนั้นดอกก็จะเหี่ยวแห้งไป

เงื่อนไขที่ 2 สัตว์ป่าที่ช่วยผสมพันธุ์ คือ กระแต มันจะกินผลบัวผุดที่แก่จัด เมล็ดจากผลบัวผุดที่มีขนาดเล็กเท่าเส้นด้าย อาจติดตามเล็บของมัน การแพร่พันธุ์จะเกิดขึ้นเมื่อกระแตใช้เล็บ (ที่มีเมล็ดติดอยู่) ไปตะกุยบนผิวย่านไก่ต้ม ในตำแหน่งที่พอเหมาะ คือ ต้องเจาะเข้าไปในท่อน้ำเลี้ยงของย่านไก่ต้มเท่านั้น

เงื่อนไขที่ 3 เถาย่านไก่ต้ม เป็นตัวอิงอาศัย (host) ชนิดเดียวของบัวผุด โดยที่บัวผุดจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากท่อน้ำเลี้ยงของย่านไก่ต้ม การบานของดอกบัวผุดเกิดจากแรงดันของน้ำที่อยู่ในเถาย่านไก่ต้มนั่นเอง

cp ม๋อจิ้ว@สุราษฎร์ธานี
cr .nprcenter.com,toptheflower.wordpress.com

ขอขอบคุณพี่หมอกฤษฎา รัตตานุกูล ด้วยครับ สำหรับบทความดีๆ
ม๋อจิ้ว@บัวผุด เขาสก สุราษฏร์ธานี

เที่ยวถูกใจไปกับเรา พร-ฤทธิ์ ทัวร์ เพราะรอยยิ้มของคุณ คือความภูมิใจของเรา

พร-ฤทธิ์ ทัวร์
-หน้าหลัก
-การเดินทาง
-โรงแรมที่พัก
-ร้านอาหาร
-ช้อปปิ้ง
-สถานที่ท่องเที่ยว
-ประเพณีและวัฒนธรรม

เกี่ยวกับพร-ฤทธิ์ ทัวร์
-ข้อมูลพร-ฤทธิ์ ทัวร์
-เข้าสู่ระบบ/ลงทะเบียน
-แนะนำแหล่งท่องเทียว
-บทความท่องเที่ยว
-ร่วมงานกับเรา
-นโยบายและเงื่อนไข

ช่องทางสื่ออื่นๆของทางเรา
-Facebook
-Instagram
-Twitter
-Youtube
-Line